สสว. หนุน SMEs เข้าถึงองค์ความรู้ผ่าน SME Knowledge Center ตั้งเป้า 2 แสนราย ต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ ไม่น้อยกว่า 4,000 ราย

 สสว. เดินหน้าต่อยอดงานพัฒนาองค์ความรู้หรือ SME Knowledge Center อย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ สสว. เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ผ่านหลักสูตรออนไลน์และสร้างเครื่องมือให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้ผ่านสื่อมัลติมีเดียมากขึ้น เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ 3 ด้านประกอบด้วย ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้ง่ายขึ้น ใช้สื่อที่เข้าใจง่ายขึ้น และเพื่อการแข่งขันในยุคดิจิทัล ตั้งเป้ามี SMEs เข้ารับการพัฒนาองค์ความรู้มิติต่างๆ เช่น การได้รับคำปรึกษา การอบรมสัมมนา และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่น้อยกว่า 4 พันรายและเข้าถึงเว็บไซต์ www.smeknowledgecenter.com หรือคลังข้อมูลความรู้ที่ สสว. จัดทำขึ้นไม่น้อยกว่า 2 แสนรายต่อปี
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. กล่าวว่า สสว. มุ่งมั่นกับการพัฒนาผู้ประกอบการโดยพัฒนาองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการมีความรู้ครบในทุกมิติ ซึ่งผู้ประกอบการหลายท่านอาจยังไม่ทราบว่า ตนเองถนัดหรือขาดในเรื่องอะไร สสว. จึงได้ดำเนินงานพัฒนาองค์ความรู้สำหรับSMEs (SME Knowledge Center) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งวัตถุประสงค์ของ SME Knowledge Center คือ
1.จัดทำและพัฒนาองค์ความรู้และข้อมูลสำหรับเอสเอ็มอีเพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจ 
2.จัดตั้งส่วนบริการ (Physical Site) ที่มีการให้คำปรึกษา โดยเน้นให้ความรู้เป็นกลุ่มย่อย เช่น จัดทำกรณีศึกษา จัดเวิร์กชอปหรือสัมมนาต่าง ๆ
3.ประเมินความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ ยูทูบ และ
4. ดูแลระบบโครงสร้างให้เหมาะสม ทั้งผู้สอนและผู้ประกอบการ และมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด
ผอ.สสว. เผยอีกว่า สำหรับองค์ความรู้ทั้งหมดในโครงการดังกล่าว สสว. ได้จัดบนแพลตฟอร์ม www.smeknowledgecenter.com เพื่อให้ใช้งานง่าย และสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ ๆ ที่น่าสนใจอยู่เสมอ รวมถึงมีการจัดสัมมนาหรืออบรมในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ขาดโอกาสเข้าถึงทางทางเทคโนโลยี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวิสาหกิจรายย่อย นอกจากนี้ SME Knowledge Center ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้รับการสัมภาษณ์เพื่อนำเสนอสินค้าในพื้นที่และนำมาผลิตเป็นสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ โดยมีแนวทางในการเพิ่มโอกาสหรือเพิ่มช่องทางใหม่ ๆ ในการขายให้กับผู้ประกอบการและเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ประกอบการท่านอื่น โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร จำนวน 940,684 ราย
สำหรับ SME Knowledge Center ได้จัดทำคลังข้อมูล 8 โมดูลด้วยกัน ได้แก่ ด้านดิจิทัล ด้านการบริการ ด้านต้นทุนและการขนส่งสินค้า ด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี ด้านองค์ความรู้เฉพาะเรื่อง (Tailor Made) ด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านบัญชีและการเงิน และด้านมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ เพื่อผู้ประกอบการ 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่
Micro Enterprises หรือกลุ่มตัวแทนวิสาหกิจรายย่อย
กลุ่ม Early Stage หรือกลุ่มเริ่มต้นธุรกิจ
กลุ่ม Small Enterprises เป็นผู้ประกอบการขนาดย่อม เช่น กลุ่มที่สานต่อธุรกิจของครอบครัวด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ 
และ กลุ่ม Medium Enterprises เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางหรือกลุ่มที่สามารถขยายธุรกิจไปสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศหรือเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้อย่างเต็มตัว
“ในปีที่ผ่านมา (2562) SME Knowledge Center มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือเข้ารับคำปรึกษาธุรกิจในด้านต่าง ๆ มากกว่า 4,500 ราย จากเป้าหมาย 4,000 ราย และมีผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ www.smeknowledgecenter.com มากถึง 250,000 ครั้ง/ปี ซึ่งเกินเป้าที่วางไว้ 200,000 ราย สำหรับในปีนี้คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก โดยยังคงยึด 8 โมดูลเหมือนเดิม
1. ด้านดิจิทัล
2. การบริการ
3. ต้นทุน การขนส่งสินค้า
4. สิทธิประโยชน์ทางภาษี 
5. องค์ความรู้เฉพาะเรื่อง 
6. การตลาด/การตลาดต่างประเทศ 
7. บัญชีการเงิน และ8. มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ แต่เพิ่มเรื่องการทำข้อมูลเฉพาะเจาะจงมากขึ้น 

ตั้งเป้าหมาย 3 ด้านคือ ให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงข้อมูลความรู้ง่ายขึ้น เข้าใจง่ายขึ้นและเรียนรู้ได้เร็วขึ้น จึงเน้นที่หลักสูตรออนไลน์และการผลิตสื่อมัลติมีเดีย เช่น อินโฟกราฟฟิกและคลิปวิดีโอต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้เป็นอาวุธในการเข้าสู่สนามธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา” ผอ.สสว. กล่าว และว่า 
ในการพัฒนาองค์ความรู้นั้นมีหลายแนวทาง เช่น มีการพัฒนาเนื้อหาให้เหมาะสมกับกลุ่มวิสาหกิจ มีการจัดสัมมนาทั้งออนไลน์หรือออฟไลน์ ในส่วนของออฟไลน์นั้น รวมถึงมีการลงพื้นที่เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการระดับวิสาหกิจรายย่อยด้วยวิธีให้คำปรึกษาเฉพาะกลุ่ม ควบคู่ไปกับการลงพื้นที่ดำเนินการอบรมความรู้แก่ผู้ประกอบทั่วประเทศ แบ่งเป็น 5 ภูมิภาค อาทิ ภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี ศรีสะเกษ ภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ ได้แก่ สงขลา นราธิวาส และภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร อยุธยา ในส่วนของออนไลน์นั้น ผู้ประกอบการสามารถเข้าใช้บริการและหาความรู้เพิ่มเติมได้ที่ www.smeknowledgecenter.com
นายวีระพงศ์ เผยอีกว่า นอกจากนี้ สสว. ยังเพิ่มแนวคิดให้กับผู้ประกอบการที่กำลังต่อสู้กับความท้าทายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติจาก โควิด-19 หรือการทำธุรกิจแบบ New Normal โดยแนะว่า ผู้ประกอบการต้องเร่งทำ 4 อย่างด้วยกันคือ สร้างทักษะใหม่ๆ หรือ New Skill Set การพัฒนาคนในองค์กร (Retraining) การพัฒนาทักษะเดิม ๆ ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น (Reskilling แบบรอบด้าน) และต้องเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างเต็มตัว (Digitalization) และจากการที่ค่า GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย ของไตรมาสแรกปี 2563 ลดลงร้อยละ 1.8 ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์ โควิด-19
โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น โรงแรมและร้านอาหาร ที่ค่า GDP ลดลงไปมากถึงร้อยละ 24.1 ดังนั้น สสว.ก็จะเร่งเข้าดูแลภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมมากเป็นพิเศษ ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับการท่องเที่ยวแบบ New Normal และต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับการ transform เช่นกัน โดยความรู้ที่จะนำมาอบรมในการปรับตัวครั้งนี้ เป็นเรื่องของการเน้นลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เน้นกระบวนการ Lean มาลดความซ้ำซ้อนและนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และพัฒนาองค์ความรู้ในด้านตลาดดิจิทัล เป็นต้น
นอกจากนี้ สสว. ยังเตรียมปรับรูปแบบองค์ความรู้ของ SME Knowledge Center ไปเป็น SME Academy 365 เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอด 365 วัน สอดคล้องกับธีม “SMEs : Faster Speed to SME Academy 365” ผลักดัน SMEs ไทยก้าวสู่ความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยไปด้วยกัน
Share:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Recent Posts

ค้นหาบล็อกนี้

Contact Us ::

📲 (+66) 081 4345154
✉️ Insightoutstory@gmail.com

Add Line📲 Click 👇👇

Translate

🚉 ช.ส.ท.พาเที่ยว นครฯ

Review By Nichapa

POPULAR NEWS

Fanpage Facebook

ป้ายกำกับ

คลังบทความของบล็อก