สกสว. จัดเสวนาออนไลน์แผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

 EP.2: “Semiconductor - โอกาสและความท้าทายของไทยท่ามกลางวิกฤต Geopolitics”

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเสวนาออนไลน์ แผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ EP.2: “Semiconductor - โอกาสและความท้าทายของไทยท่ามกลางวิกฤต Geopolitics” ให้เกิดการแนะนำองค์ความรู้ ในงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ Semiconductor สำหรับการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านต่าง ๆ และเกิดความเข้าใจการทำงานเทคโนโลยี Semiconductor กับการสร้างสรรค์เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเครือข่ายนักวิจัย นักวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งนักวิเคราะห์ และวางแผนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ได้รับทราบถึงโอกาสของการใช้ประโยชน์หรือสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ 

โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีหน้าที่หลักในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2566 – 2570 หรือแผนระยะ 5 ปี รวมถึงการจัดสรรงบประมาณด้านทุนวิจัยให้กันหน่วยงานต่าง ๆ ของประเทศ โดยมี 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มี ความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและ นวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม

โดยยุทธศาสตร์ที่ 1 มุ่งเน้นการดำเนินงาน 8 เรื่อง และ หนึ่งในจำนวนนี้เป็นแผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และ“สำหรับ หัวข้อที่ได้ร่วมหารือในวันนี้นับเป็นประเด็นสำคัญในอุตสาหกรรมของประเทศไทย เพราะ Semiconductor ถือว่าเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิฟ ซึ่งโลกกำลังก้าวไปสู่ยุคแห่งการเชื่อมต่อสรรพสิ่งหรือ IoT หลายอุปกรณ์ล้วนเชื่อมต่อด้วยอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก็พบอยู่ในส่วนต่างๆ เช่น รถยนต์ หรือแท็บเล็ต เป็นต้น หากเราไม่มีชิฟที่เป็นอุปกรณ์ตัวช่วยในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งใช้ในการประมวลผล ก็จะส่งผลให้ประเทศไทยก้าวไปต่อข้างหน้าได้ยากขึ้น อีกทั้ง ประเทศไทยมีความต้องการในด้านนี้อย่างมาก โดยเวทีในวันนี้จะเป็นการเปิดเวทีรับฟังจากผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่าน ว่าโอกาสของประเทศไทยคืออะไร และ อะไรคือโจทย์สำคัญที่ประเทศจำเป็นต้องลงทุน” รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ ในช่วงของการเสวนา “Semiconductor - โอกาสและความท้าทายของไทยท่ามกลางวิกฤต Geopolitics” นั้น ดำเนินรายการเสวนา โดย ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานคณะทำงานบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนา ววน. ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมทั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยน ดังนี้

ดร.วิวัฒน์ วงศ์วราวิภัทร์ CEO Instep Group กล่าวว่า ในด้าน Semiconductor ต้องมองที่ด้านดีไซน์ ควบคู่กับการตลาด เพราะเพียงแค่ชิฟนั้นค่อนข้างจะขายยาก แต่ต้องมี Supply Chain ที่ยาวขึ้น พร้อมแนะว่าต้องแบ่งทิศทางเป็น 2 ด้าน คือ ตลาดหารายได้/เพิ่มรายได้ และตลาดที่ต้องพึ่งพาตัวเอง/เพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตัวเอง โดยอาจเป็นการนำชิฟไปสนับสนุนอุตสาหกรรมเด่นของไทย เช่น เกษตร ท่องเที่ยว และการเริ่มต้นธุรกิจควรจะเป็น B2B ก่อน 

ศ. ดร. อภินันท์ ธนชยานนท์กรรมการบริหารบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า กำลังคนเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะก่อนที่จะจ้าง Outsource ในการดำเนินการได้นั้น ต้องหาแรงงานคนที่มีความสามารถทางด้านอิเล็กทรินิกส์ดีไซน์ ซึ่งในปัจจุบัน มีความท้าทายในการหาแรงงานด้านวิศวกรออกแบบอย่างมาก จึงมีความพยายามที่จะทำงานร่วมกับทางมหาวิทยาลัยในไทย เพื่อผลิตนักศึกษาที่ตอบโจทย์ภาคผลิต พร้อมเสนอว่า หากมีการเข้ามาลงทุนในด้าน Semiconductor จากต่างชาติในไทย ถ้าเป็นไปได้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศ เพราะจะทำให้เห็นถึงความสำคัญใน Semiconductor มากขึ้น และกรณีที่เป็นผู้เล่นรายเล็กต้องหาจุดขายผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบความต้องการของ niche market และที่สำคัญคือควรมีคณะกรรมการที่ร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานที่สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน

คุณกิตติกร วิรัชวรพงศ์ Senior Manager, Business Development Power and Sensor Systems Division (Asia Pacific) Infineon Technologies Asia Pacific Pte Ltd ระบุว่า การลงทุนใด ๆ ก็ตามจากต่างชาติ อย่างแรกที่เขาให้ความสำคัญ คือ เรื่องของความมั่นคงทางการเมือง เพราะส่งผลต่อการนโยบายภาครัฐ รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ให้ระบุในทักษะขั้นพื้นฐานด้านกำลังคนเบื้องต้นใน 2 ประเด็นคือ 1) การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ และ 2) coding ด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ควรให้ความสำคัญและจริงจังกับ Carbon Neutral, Net Zero และ Local Government Support ในการสนับสนุนเชิงพื้นที่ เช่น การจัดการน้ำ ภัยธรรมชาติ โรคระบาด เป็นต้น 

คุณวิบูลย์ รักสาสน์เจริญ รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจมีหลายมิติ ทั้งด้านการผลิตและด้านการส่งออก ในช่วงที่เกิดปัญหา Geopolitics กระบวนการย้ายฐานการผลิตต้องใช้เวลา และมักเลือกลงทุนที่ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่ประเทศไทยจะได้แบ่งสัดส่วนอยู่ที่กี่เปอร์เซ็น พร้อมแนะเพิ่มว่า การที่ทำให้ราคาถูกลง ที่อื่นก็สามารถทำได้เหมือนกัน แต่อยากให้หันมามองดูที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และความพร้อมของประเทศไทยที่ต่างชาติมอง อย่างเช่น GREEN กำลังคน NQI และการบริหารจัดการน้ำ ที่ไทยยังต้องพัฒนา เพราะเป็นอุปสรรคในภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับทรัพยากรประเทศไทยมีอย่างจำกัด จึงแนะนำให้อุตสาหกรรมดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน

ด้าน รศ. ดร.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเสริมว่า ในแนวทางการดำเนินงานอย่างเร่งด่วนในด้านกำลังคน ทางสถาบันการศึกษา จำเป็นที่จะต้องผลิตนักศึกษาที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูงขึ้น เพื่อสนับสนุนการผลิตให้ไวและมีความเชี่ยวชาญค่อนข้างมีความท้าทาย ดังนั้น ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสร้างความเชื่อมโยงกัน ให้เกิดเป็นความเชี่ยวชาญ และส่งต่อความรู้ หรือปริญญาตรีอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่อาจต้องมีการร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศเพิ่มเติม อีกด้วย โดยสามารถเริ่มดำเนินการได้ผ่าน Sandbox ของกระทรวง อว. 

ในท้ายที่สุดทุกภาคส่วนคิดเห็นไปทางเดียวกันว่าเราควรจะต้องมองหาและสร้าง product champion ที่จะเป็นตัวเชื่อมไปยังตลาด มองหาโอกาสที่ประเทศมีความได้เปรียบจากฐานอุตสาหกรรมเดิม สร้างกลไกของการสนับสนุนเป็นขั้นบันไดมุ่งสู่ตลาดโลก ที่สำคัญภาครัฐจำเป็นที่จะต้องมีนโยบาย กลยุทธที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทางด้าน semiconductor ตลอดห่วงโซ่จะต้องเชื่อมให้ถึงความต้องการของตลาด และสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เราสามารถสร้างเศรษฐกิจไทยให้มี ความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและ นวัตกรรม

Share:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Recent Posts

ค้นหาบล็อกนี้

Contact Us ::

📲 (+66) 081 4345154
✉️ Insightoutstory@gmail.com

Add Line📲 Click 👇👇

Translate

🚉 ช.ส.ท.พาเที่ยว นครฯ

Review By Nichapa

POPULAR NEWS

Fanpage Facebook

ป้ายกำกับ

คลังบทความของบล็อก