สทป. นำร่อง 4 โครงการร่วมทุน เพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศอย่างเป็นรูปธรรม


ตามที่ พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 
หรือ สทป. ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ว่า “สทป. จะต้องเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ตอบสนองความต้องการของกองทัพไทยและพันธมิตรอาเซียน ภายในปี 2564” เพื่อให้วิสัยทัศน์บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้ สทป. จะต้องนำผลงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ทั้งในอดีตและที่มีอยู่ปัจจุบันมาผลักดันในเกิดการพึ่งพาตนเองและการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะด้านการผลิตและการดำเนินกิจกรรมในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมทั้งเป็นการสนองตอบนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-curve ที่ 11 เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต

พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาผลงานการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศของ สทป. ได้นำมาจัดทำเป็นอาวุธหรือยุทโธปกรณ์ต้นแบบและส่งมอบให้เหล่าทัพต่างๆ นำไปทดสอบทดลองใช้ ให้ตรงตามความต้องการที่ใช้งานที่แท้จริง และดำเนินการสู่กระบวนการมาตรฐาน อย่างไรก็ตามการดำเนินงานของ สทป. ที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่ต้นแบบงานวิจัย ซึ่งยังไม่ได้เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมที่ส่งต่อสู่สายการผลิตในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้ เนื่องมาจากข้อจำกัดด้านกฎหมายและด้านงบประมาณ จนกระทั่ง สทป. ได้ผลักดันพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ.2562 เป็นผลสำเร็จและใช้บังคับในปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การศึกษาวิจัย การผลิต และการนำมาใช้ประโยชน์ โดยจะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐอื่นรวมถึงภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศจะส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวในภาคธุรกิจอันนำไปสู่การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในประเทศไทย เพื่อปรับเปลี่ยนสถานะของประเทศไทย จากการเป็นผู้ซื้อมาเป็นผู้วิจัย ผู้พัฒนา และผู้ผลิตเพื่อการใช้งานภายในประเทศและการส่งออกต่อไป ทั้งนี้ สทป. ได้จัดทำกฎหมายลำดับรองเพื่อกำหนดเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการของสถาบันฯ ในการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของ สทป. ตามบทบาทใน พ.ร.บ.เทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ.2562 อาทิ การจัดตั้งหรือร่วมกับบุคคลอื่นในการจัดตั้งองค์กรที่เป็นนิติบุคคล รวมตลอดถึงการเข้าร่วมทุน ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนกับบุคคลหรือนิติบุคคลใด เพื่อการดำเนินกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอย่างเป็นรูปธรรม 

ในปีงบประมาณ 2564 ภายใต้พระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ.2562 นี้ สทป. มีโครงการนำร่องในการร่วมทุนเพื่อประกอบกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ ในลักษณะการร่วมจัดตั้งองค์กรนิติบุคคลและการไม่ร่วมจัดตั้งองค์กรนิติบุคคล จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย 

1.การร่วมจัดตั้งองค์กรนิติบุคคล จำนวน 2 โครงการ ได้แก่

   1.1 โครงการอากาศยานไร้คนขับ (UAV)

        โดยใช้แนวทางการดำเนินงานในรูปแบบการร่วมลงทุนแบบจัดตั้งนิติบุคคล ร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบันการใช้งานระบบอากาศยานไร้คนขับนอกจากหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนอื่น ๆ มีความต้องการอย่างต่อเนื่องในการใช้งานระบบอากาศยานไร้คนขับไม่ว่าจะเป็นอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ซึ่ง สทป. เองได้มีการดำเนินการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับร่วมกับภาคเอกชนเพื่อใช้ในภารกิจต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันและภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม 

    1.2 โครงการอาวุธและกระสุน

         สทป. ใช้แนวทางการดำเนินงานในรูปแบบการร่วมลงทุนแบบจัดตั้งนิติบุคคล ร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่ง สทป. เล็งเห็นว่าอาวุธปืนถือเป็นถือเป็นอาวุธประจำกายขั้นมูลฐานที่มีความสำคัญและมีความต้องการจำนวนมากของหน่วยงานด้านความมั่นคง และการจัดหาจากต่างประเทศก็มีข้อจำกัดในหลายด้าน อาทิ ข้อจำกัดด้านราคา ข้อจำกัดด้านเวลา ข้อจำกัดทางเทคนิค และข้อจำกัดด้านกฏหมาย เป็นต้น ซึ่งภาคเอกชนในประเทศไทยนั้นมีขีดความสามารถที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การผลิต การประกอบรวม การปรับปรุง การเปลี่ยนลักษณะการแปรสภาพรวมถึงสามารถซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถลดการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งจะสามารถประหยัดงบประมาณและลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ 

2. การไม่ร่วมจัดตั้งองค์กรนิติบุคคล จำนวน 2 โครงการ 

    2.1 โครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (Offshore Patrol Vessel : OPV) 

     สทป. ใช้แนวทางการดำเนินงานในรูปแบบการร่วมลงทุนแบบไม่จัดตั้งนิติบุคคล ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐและ/หรือภาคเอกชนไทย ซึ่งปัจจุบันกองทัพเรือฟิลิปปินส์ได้รับอนุมัติงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (Offshore Patrol Vessel: OPV) จำนวน 6 ลำ ซึ่งหน่วยงานในประเทศไทยมีอู่ต่อเรือที่มีศักยภาพต่อเรือประเภทนี้ ซึ่งสามารถดำเนินการต่อเรือได้ จำนวน 6 ลำ ภายในระยะเวลา 4 ปี โดยเป็นการต่อเรือในประเทศไทย จำนวน 2 ลำ และการต่อเรือในประเทศฟิลิปปินส์ จำนวน 4 ลำ ซึ่งจะดำเนินการจัดหาในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล  

2.2 โครงการยานเกราะล้อยางแบบ 4X4 

         สทป. ใช้แนวทางการดำเนินงานในรูปแบบการร่วมลงทุนแบบไม่จัดตั้งนิติบุคคล ร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน โดยประเทศฟิลิปปินส์ได้กำหนดโครงการปรับปรุงกองทัพในระยะที่ 2 (ปี 2561-2565) ซึ่งมีความต้องการจัดหารถ Armor light tactical vehicle (LTV) จำนวน 900 คัน โดยบริษัทเอกชนของไทยได้เข้าแข่งขันและได้รับการคัดเลือกเป็นลำดับที่ 1 จากรัฐบาลประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อผลิตรถเกราะลอยางแบบ 4x4 โดยรัฐบาลประเทศฟิลิปปินส์ต้องการให้เป็นการดำเนินการจัดหาในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งบริษัทเอกชนของไทยมีศักยภาพในการผลิตยานเกราะล้อยางแบบ 4X4 ให้แก่กองทัพไทยและจำหน่ายแล้วในหลายประเทศ สทป. จึงได้ประกาศโครงการร่วมทุนผลิตยานเกราะล้อยางแบบ 4X4 กับบริษัทเอกชน ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้กับภาคเอกชนของไทย

พลอากาศเอก ดร.ปรีชา กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานต่อไปว่า สทป. ยังคงต้องวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่เป็นโครงการเดิม ควบคู่ไปกับการดำเนินการโครงการใหม่ภายใต้พระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ.2562 ในลักษณะของการบูรณาการ และเป็นเทคโนโลยี 2 ทางที่ใช้งานได้ทั้งทหาร และพลเรือน งานในโครงการใดที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ก็จะนำมาพิจารณาดำเนินการ โดยเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่นอกจากจะทำให้กองทัพไทยพึ่งพาตัวเองได้แล้ว ยังเป็นอุตสาหกรรมที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่ประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย 


Share:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Recent Posts

ค้นหาบล็อกนี้

Contact Us ::

📲 (+66) 081 4345154
✉️ Insightoutstory@gmail.com

Add Line📲 Click 👇👇

Translate

🚉 ช.ส.ท.พาเที่ยว นครฯ

Review By Nichapa

POPULAR NEWS

Fanpage Facebook

ป้ายกำกับ

คลังบทความของบล็อก